การค้นหา Our Research

เรื่องของม้าลำปาง ตัวแทนม้าพื้นเมืองไทยที่อาจเป็นมรดกโลก

 

                คำว่าม้าลำปางไม่ได้เจาะจงหมายถึงม้าเฉพาะที่อยู่ในลำปางหรือว่าม้าลำปางเท่านั้นที่เป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์  แต่ที่ใช้ชื่อว่าม้าลำปางก็เพราะเป็นกลุ่มของม้าพื้นเมืองที่มีชุมชนชัดเจน  พูดถึงปุ๊บคนไทยหรือแม้แต่ฝรั่งก็รู้จัก  และงานของเราก็เริ่มต้นที่ม้ากลุ่มนี้

                ความสนใจในม้าลำปาง คือ การเป็นตัวแทนของม้าพื้นเมืองในประเทศไทยที่เราพบลักษณะเด่นของโครงสร้าง รูปร่าง สี และเอกลักษณ์บางอย่างคล้ายม้าโบราณ ที่เคยสูญพันธ์ไปจากโลกนี้แล้ว ได้แก่ม้าพันธุ์ Mongolian Przewalski

                ตอนที่เริ่มไปทำงานใหม่ๆ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทีมงานของเราได้แก่ Dr.Carla Carleton จาก Michigan State University , Dr. Nanna Lutherson จากประเทศเดนมาร์ก  ดิฉัน สพญ.ดร.ศิรยา ชื่นกำไร และสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลม้าโคราช รวมถึงนิสิตสัตวแพทย์ที่สนใจ พวกเราตั้งขบวนการทำงานที่สำนักงานหนังสือพิมพ์เอกราช และสมาคมรถม้าลำปาง คือบ้านพักของคุณอัครินทร์ พิชยกุล นากสมาคมฯ ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือเราอย่างมากในการตามล่าหาม้าทั่วอำเภอเมืองจังหวัดลำปาง เราเลือกชุมชนนี้เพราะเราสามารถตามดูความเป็นไปของม้าได้ และสืบค้นต้นตอการมาและจากไปของม้าในกลุ่มนี้ได้ ในครั้งแรกเราได้ไปฝังไมโครชิฟม้าทุกตัว เจาะเลือดเพื่อสกัด DNA สำรวจ 13 โรคสำคัญของม้า ทั้งที่เคยพบและไม่เคยพบมาก่อนในภูมิภาค รวมถึงบริการถ่ายพยาธิและฉีดวัคซีนทุกตัว

                การปฏิบัติงานของเราทำให้พบว่าม้าพื้นเมืองที่เลี้ยงอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากการขาดความรู้ในการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อาหาร ม้าส่วนใหญ่มีปัญหาโรคกระดูกที่เกิดจากการขาดแคลเซี่ยม ร่างกายจะพยายามทดแทนโดยดูดซึมแคลเซียมออกจากกระดูกเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ม้ามีอาการกระดูกบาง เปราะแตกง่าย ฟันโยก และกระดูกโปหน้าบวมแบบที่คนชอบเรียกว่า “ม้าหน้าโป” ทั้งนี้เพราะเมื่อกระดูกถูกดูดแคลเซี่ยมไป ร่างกายก็พยายามสร้างเนื้อเยื่ออื่นมาทดแทน กลายเป็นเนื้อเยื่อพังผืดที่ไม่หนาแน่นเท่ากระดูก

                การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ทำได้ไม่ยาก เพราะเราสร้างเอง ถ้าเรารู้ว่าเราให้แคลเซี่ยมไม่พอ เราก็เพียงแต่เสริมแคลเซี่ยมให้พอ โดยเฉพาะม้าที่นิยมเลี้ยงด้วยรำ เพราะรำมีฟอสฟอรัสสูง มีผลทำให้ขบวนการขาดแคลเซี่ยมแย่ลงไปอีก

                ตอนที่บันดาลใจมากๆคือตอนที่เรานัดชุมชนคนเลี้ยงม้ามาประชุมเรื่องปัญหาที่เขาสร้างขึ้นเอง ทุกคนมาฟังและยินดีเริ่มต้นแก้ปัญหาโดยซื้อแคลเซี่ยมให้ม้ากิน จากปี 2004 ที่เราสำรวจว่ามีม้าเกิน 85% ที่เป็นโรคกระดูก จนถึงปี 2007 ที่การเป็นโรคลดลงเหลือน้อยกว่า 20% นี่เป็นการแสดงพลังของการลุกขึ้นมาเป็นต้นเหตุของการแก้ไขปัญหาม้าของเขาเอง เพราะมันไม่ใช่ของแจกฟรี การเลือกทำสิ่งนี้ต้องเป็นคนเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ

 

                ความจริงแล้วหลายๆอย่างที่เป็นปัญหาก็พลอยลดลงไปด้วย เพราะในอดีตมีม้าที่ถูกกระทบนิดเดียวก็ขาหัก หรือล้มแล้วลุกไม่ขึ้นเพราะซี่โครงหัก คนมักจดนึกว่าเป็นความซวย หรือเป็นโรคร้ายแรง ต้องตั้งศาลพระภูมิหรือไม่ก็ฉีดยาอุตลุต แต่พอให้แคลเซี่ยมแล้วกระดูกแข็งแรงขึ้น ปัญหาร้ายแรงประเภทนี้ก็ลดลง

                จำได้ว่ามีสัตวแพทย์คนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า เขาไปพบม้าที่ชะอำ มีอาการของโรคกระดูกและหน้าโปมากมาย พอคุยกับคนเลี้ยงเขาก็บอกว่า “ อ๋อ ม้าพันธุ์นี้มันหน้าตาเป็นอย่างนี้เองแหละ!” เราจึงต้องย้อนกลับมาดูว่า เราให้ความสำคัญแก่ความรู้มากน้อยแค่ไหน เรารู้จักสัตว์ที่เราเลี้ยงหรือไม่ เราเข้าใจธรรมชาติของมันไหม ถ้าไม่เข้าใจแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรเมื่อมันผิดธรรมชาติ?

                ดิฉันเคยพูดเสมอๆว่ามีความรู้ 2 ประเภทที่ทำร้ายม้ามากที่สุด นั่นคือความไม่รู้ กับความรู้ดี แต่พลังของความรู้ที่ถูกต้องเป็นพลังที่ควรเป็นพลังพื้นฐานของชุมชน การรอคอยพลังจากเงิน กำลัง หรือ อำนาจพวกพ้อง มาช่วยเหลือเรา เป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนอ่อนแอ พลังความรู้ ถึงจะเป็นพลังชุมชนที่สร้างความแตกต่างได้อย่างแท้จริง

                คนเราจะมีพลังไปทำไม?..    ก็มีไว้พิทักษ์โอบอุ้มซึ่งกันและกัน และโอบอุ้มเลี้ยงสัตว์ของเราอย่างรับผิดชอบไง..

                ม้าในเมืองไทยที่เราเก็บตัวอย่าง DNA ไป เราพบแล้วว่ามี่กำเนิดมาจากยูนาน ที่เคยจัดอยู่ในกลุ่ม Asiatic Wild Horse ม้าป่าแห่งเอเชีย แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ก็ยากลำบากมาก เพราะหลักฐานที่เรามีมันเบาบางมาก เราต้องเดินทางไปหลายครั้งถึงตะเข็บชายแดน เพื่อเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม เป็นการตามล่าหาม้าพื้นเมืองสายพันธุ์ธรรมชาติจริงๆ  ทำไมถึงลำบาก? ก็เพราะคนส่วนใหญ่นิยมนำม้าไทยไปผสมข้ามสายพันธุ์กับม้าเทศ โดยเฉพาะม้าแข่ง บางทีก็ผสมเพื่อให้ได้ความสูงหรือสีที่ต้องการ นี่แหละคือการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เป็นการทำลายมรดกไทย ที่อาจจะเป็นมรดกโลกอีกด้วย

                ถ้าใครเคยไปขี่ม้าตามดอย อย่างที่ดิฉันเคยมีโอกาสไปสัมผัสที่อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่ฟาร์มคุณสีหมอก จะตลึงกับความสามารถ และหัวใจของม้าพื้นเมืองไทยจริงๆ ม้าเหล่านี้ตัวเล็กแต่อกหนา และแข็งแรง เราสามารถขี่ขึ้นลง เขาชันๆ เดินไปตามขอบตลิ่ง ตลุยลงน้ำและเดินตามทางแคบอย่างคล่องแคล่ว ครั้งหนึ่งเราเคยขี่ไปในป่าก็มาถึงบริเวณไฟไหม้ป่าอยู่ ม้าโดยธรรมชาติจะกลัวไฟ ต้องหนีเอาตัวรอด แต่เมื่อผู้นำและคนขี่แน่วแน่ว่าจะฝ่าไป แล้วตะโกนยุม้า ทุกคนและทุกตัวก็ลุยไปแทบจะไม่มีความกลัวปรากฏ ถ้าเป็นม้าเทศตลอดการเดินทางแบบนี้ ต้องลื่น ล้ม ขาหัก วิ่งหนี ไม่มีทางทำทุกสิ่งที่ม้าเหล่านี้ทำได้

                ธรรมชาติไม่ได้สร้างม้าให้อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่ธรรมชาติก็จัดสรรให้มีความพอดีหลายๆอย่างที่ช่วยให้ม้าดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างดี ดีกว่าเวลาที่มนุษย์ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม รูปร่าง ที่อยู่อาศัย หรือการให้อาหาร

                ปัจจุบันนี้เราได้เก็บตัวอย่าง DNA จากม้าพื้นเมืองหลายๆจังหวัด รวมถึงม้าในประเทศเขมรด้วย เพราะเราเชื่อว่าม้าในภูมิภาคมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน แต่ตอนนี้การตามล่าหาม้าโบราณของเราอาจจะเริ่มเป็นการวิ่งแข่งแล้ว ไม่ใช่แต่การวิ่งแข่งกับการทำลายสายพันธุ์ของเราเอง แต่แข่งกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้ติดต่อเข้ามาที่ Royal University of Cambodia ในพนมเปญเพื่อทำการเก็บตัวอย่าง DNA ของม้าในเขมรด้วย เทคโนโลยีและเงินทุนที่มากของประเทศญี่ปุ่น อาจจะทำให้เขาได้ประกาศการค้นพบที่มาที่ไปของม้าที่เรารู้มาก่อนเขาก็เป็นได้